▶ ม.บูรพา ขับเคลื่อนสู่การศึกษาแนวใหม่ ตามแนวทาง BUU Smart Education

 

ม.บูรพา ขับเคลื่อนสู่การศึกษาแนวใหม่ ตามแนวทาง BUU Smart Education

                        👉 สภามหาวิทยาลัยบูรพาจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแนวใหม่และการศึกษาตลอดชีพตามแนวทาง BSE (BUU Smart Education) เน้นการสร้างนวัตกรรมการศึกษา ตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ EEC และความก้าวหน้าของประเทศ ผลิตบัณฑิตที่มุ่งสู่อนาคต
                        👉 คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ดังกล่าวมี ศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา ท้วมสุข เป็นประธานฯ มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากสภามหาวิทยาลัย 3 ท่านเข้าร่วม ได้แก่ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ และ ดร.อภิชาต ทองอยู่ รวมทั้งมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนต์ สกุลไชย นายกสภามหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา ร่วมกับกรรมการจากตัวแทนคณบดีและสำนักที่เกี่ยวข้อง
                        👉 ภารกิจของคณะกรรมการชุดนี้ คือ การมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการศึกษาแนวใหม่ตามแนวทาง Demand driven ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและตอบโจทย์ความต้องการของของสถานประกอบการและความต้องการของประเทศ รวมทั้งการมุ่งสร้างระบบสนับสนุนในการขับเคลื่อนการศึกษาแนวใหม่ ทั้งหลักสูตร sandbox ระบบบเครดิตแบงก์ ระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบบการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นที่ร่วมกับสถานประกอบการเพื่อ Reskill Upskill Newskill ระบบการเรียนล่วงหน้า ระบบการเรียนแบบโมดูล ฯลฯ
                       👉 ด้วยภารกิจที่สำคัญในการสร้างการศึกษายุคใหม่ จึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนภารกิจ 5 คณะ ที่มาจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับคณบดีจากหลายคณะฯ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมทำงานขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับมหาวิทยาลัยที่จะปรับตัวตอบโจทย์ความก้าวหน้ายุคใหม่ ตามแนวนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่ออกระเบียบเปิดช่องในการจัดการศึกษาแบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่น รองรับผู้เรียนที่มีความหลากหลาย ผู้เรียนสามารถออกแบบปริญญาของตนเองได้และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
BUU KITCHEN: การศึกษาแบบใหม่ที่ผู้เรียนออกแบบปริญญาของตนเอง

                        👉 รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย นายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา นำเสนอ “BUU Kitchen Model” รูปแบบการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่เป็นการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ผู้เรียนสามารถออกแบบปริญญาของตนเอง
                        🤝🤝 BUU Kitchen Model จะทำให้การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยบูรพาเปิดกว้างให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความชอบของตนเอง เป็นการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน หรือ Personalized ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามตารางชีวิตของตนเองและออกแบบปริญญาของตนเองได้
                        👍👍 ข้อดีของ BUU Kitchen Model คือ มีความยืดหยุ่นในวิธีการเรียน มีช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่สำคัญผู้เรียนสามารถเลือกวิธีการเรียนที่ดีที่สุดให้กับตนเองได้
ม.บูรพา เน้นความหลากหลายของการจัดการศึกษาเพื่อรองรับอนาคต

                        👉 ม.บูรพา รุกการจัดการศึกษาที่หลากหลายเพื่อผลิตบัณฑิตและกำลังคนตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และความต้องการของประเทศ พร้อมเร่งพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับทิศทางการศึกษาในอนาคต
                       👉 ด้วยการเปลี่ยนแปลงในลักษณะพหุมิติ ส่งผลต่อรูปแบบและความต้องการของผู้เรียนที่ลดลง โจทย์การผลิตบัณฑิตระดับอุดมศึกษาที่ท้าทาย มหาวิทยาลัยบูรพาจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายดังกล่าว ด้วยการออกแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงกลุ่มผู้เรียนทุกช่วงวัย ทั้งกลุ่ม Pre-Degree ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย กลุ่มผู้เรียนในมหาวิทยาลัยบูรพาและต่างสถาบันทั้งในและต่างประเทศทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา และผู้เรียนที่เป็นวัยทำงานที่ต้องการ Reskill Upskill และ New Skill อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการคำนึงถึงการจัดการศึกษาแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่เชื่อมโยงการศึกษาในระบบและนอกระบบ และตามอัธยาศัยที่จัดให้แต่ละบุคคลในทุกช่วงอายุและสัมพันธ์กับวิถีการดำเนินชีวิต
ม.บูรพา สนับสนุนการจัดการศึกษาแบบ ◀ Sandbox ▶
มุ่งผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ตอบสนองความต้องการของประเทศ

                        👉 มหาวิทยาลัยบูรพาสนับสนุนการพัฒนา “หลักสูตร Sandbox หรือหลักสูตรที่จัดการศึกษาแตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา” เป็นหลักสูตรแบบ Tailor-made ออกแบบคนเก่งให้ประเทศ และเป็นการจัดการศึกษาที่ก้าวข้ามข้อจำกัดการจัดการศึกษาแบบเดิม
                       ▶ ▶ หลักสูตร Sandbox เป็นการพัฒนาหลักสูตรจาก Demand side มุ่งผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตามความต้องการของประเทศ ให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยหลักสูตร Sandbox จะช่วยให้สามารถจัดการศึกษาได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สร้างทางเลือกใหม่ให้ภาคอุตสาหกรรมหรือตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง ให้ได้บุคลากรที่คุณภาพ เป็นการตอบสนองนโยบาย Higher education Sandbox ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
                      📌📌 หลักสูตร Sandbox หรือการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษานี้ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาแนวใหม่ จะเกิดประโยชน์ในการ 1. ผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ 2. เกิดนวัตกรรมการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ตอบโจทย์รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป และ 3. เกิดรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น สามารถจัดการศึกษาแก่ผู้เรียนในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยได้

 

++ ขอเชิญประชาคม ม.บูรพามาร่วมกันขับเคลื่อน ++
++ BUU Smart Education: BSE ไปด้วยกัน ++